วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ประเภทของสถิติ

          เคยสงสัยบ้างไหมสถิติมีกี่ประเภท แต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร  ทำไมจึงต้องแยกออกเป็นประเภทด้วย  คำถามเหล่านี้จะหมดไปถ้าเราได้รู้จักประเภทของสถิติ

 

สถิติมี 2 ประเภท  คือ 

    • สถิติเชิงพรรณนา (Description Statistics)   

    • สถิติเชิงอนุมาน (Inferential Statistics) 

       

    สถิติเชิงพรรณนา (Description Statistics)  

             สถิติเชิงพรรณณาหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สถิติบรรยาย  เป็นสถิติที่ใช้บรรยายหรือสรุปลักษณะสิ่งที่เราสนใจ  ซึ่งอาจเป็นกลุ่มตัวอย่างหรือประชากรก็ได้  โดยมุ่งเน้นอธิบายหรือสรุปผลเรื่องราวต่างๆ ของกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาหรือประชากรกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น  เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนรวดเร็วและเข้าใจได้ง่าย 
             ข้อสรุปที่ได้จากสถิติประเภทนี้จะไม่สามารถนำไปอ้างอิงถึงกลุ่มตัวอย่างหรือประชากรกลุ่มอื่นได้  จะใช้อธิบายเฉพาะกลุ่มตัวอย่างหรือประชากรที่เรานำข้อมูลมาใช้เท่านั้น  ซึ่งสถิติประเภทนี้ถือเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นพื้นฐานและถูกนำมาใช้กันบ่อยๆ  
              เครื่องมือสำหรับสถิติประเภทนี้มี  รูปแบบคือ  การแสดงผลด้วยแผนภาพ  และการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น
      

    1. การแสดงผลด้วยแผนภาพ  (Visual Techniques) 
              เป็นการเน้นให้เข้าใจพฤติกรรมและข้อเท็จจริงของข้อมูลเพื่อตีความหมายได้ง่ายขึ้น  โดยการนำข้อมูลมาแปลงให้เป็นตาราง  แผนภาพ  แผนภูมิ  กราฟ  หรือรูปภาพ  แล้วจึงทำการตีความหมายด้วยตาเปล่า

    ตัวอย่างการแสดงผลน้ำหนักของนักเรียนกลุ่มหนึ่งด้วยตารางแจกแจงความถี่

    น้ำหนัก(กิโลกรัม)
    ความถี่(คน)
    45-50
    2
    51-55
    4
    56-60
    8
    61-65
    5
    66-70
    4
    71 ขึ้นไป
    1
     
          จากตัวอย่างด้านบนเราจะสามารถสรุปได้ว่า  น้ำหนักเฉลี่ยส่วนใหญ่ของนักเรียนกลุ่มนี้อยู่ที่  56-60 กิโลกรัม 

    2. การวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น  (Data Analysis) 
              เป็นการคำนวณหาลักษณะเฉพาะของข้อมูลให้ออกมาเป็นตัวเลข  เพื่อนำตัวเลขนั้นไปใช้อธิบายประชากรหรือสิ่งที่สนใจ  โดยการวิเคราะห์ข้อมูลจะประกอบด้วย 

              1.  การวัดแนวโน้มเข้าสู่ส่วนกลาง 
    เป็นการหาค่าเพื่อนำมาเป็นตัวแทนของข้อมูล  เพื่ออธิบายลักษณะของข้อมูล  โดยค่าที่ได้จะเป็นค่าที่ข้อมูลทั้งหมดมีแนวโน้มเข้าหาค่าๆ นี้   
              เครื่องมือที่ใช้ได้แก่  ค่าเฉลี่ย  ฐานนิยม  มัธยฐาน 

              2. การหาตำแหน่งของข้อมูล
    เป็นการหาค่าที่แสดงตำแหน่งของข้อมูล  เพื่ออธิบายว่าข้อมูลอยู่ในตำแหน่งใด  และอยู่ในตำแหน่งที่ดีหรือไม่
     เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ เปอร์เซ็นต์ไทล์  ควอไทล์  และเดไซล์
     
    3. การวัดการกระจาย 
    เป็นการหาค่าที่ใช้เพื่ออธิบายลักษณะการกระจายของข้อมูล  เพื่อดูว่าข้อมูลเกาะกลุ่มหรือกระจายแยกจากกันมากน้อยแค่ไหน  ซึ่งก็คือการหาขนาดของความเบี่ยงเบนจากค่าที่ควรจะเป็นของข้อมูล 
               เครื่องมือที่ใช้ได้แก่  ค่าความแปรปรวน  ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  พิสัย 

    4. การหารูปทรง 
              เป็นการหาค่าที่ใช้เพื่ออธิบายรูปทรงของข้อมูล  เช่น ความสมมาตร  ความเบ้  ความโด่ง  โดยการหารูปทรงมักจะนำข้อมูลมาแจกแจงความถี่เพื่อช่วยในการดูรูปทรงของข้อมูล


    สถิติเชิงอนุมาน (Inferential Statistics)

    สถิติเชิงอนุมาน  หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  สถิติอ้างอิง  เป็นสถิติที่ใช้เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องราวที่เราสนใจของประชากร  โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่ถูกเลือกมาจากประชากร  แล้วนำมาวิเคราะห์เพื่อหาข้อเท็จจริง   หลังจากนั้นจึงนำข้อเท็จจริงที่ได้ไปสรุปเรื่องราวหรืออธิบายกลุ่มประชากร

    ความถูกต้องของสถิติอนุมาน  จริงๆ แล้วจะขึ้นอยู่กับกลุ่มตัวอย่างที่ถูกเลือกมา  ว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของประชากรหรือไม่  โดยกลุ่มตัวอย่างที่ถูกเลือกมาจากประชากรจะต้องมีโอกาสในการถูกเลือกมาเท่าๆ กัน หรือไม่มีความเอนเอียงในการเก็บข้อมูล  และจำนวนตัวอย่างที่ถูกเก็บมาจะต้องมีปริมาณที่มากเพียงพอกับการวิเคราะห์  ในทางสถิติจะอาศัยเครื่องมือที่เรียกว่า "เทคนิคการสุ่มตัวอย่าง" มาช่วยในการเก็บตัวอย่าง

    สถิติประเภทนี้ได้แก่  การประมาณค่า  การทดสอบสมมติฐาน  การวิเคราะห์ความแปรปรวน  และการหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร  ซึ่งสถิติประเภทนี้ถือเป็นสถิติขั้นสูง

              


    วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2558

    สถิติ (Statistics) คืออะไร


    คุณรู้จักสถิติไหม ?   

     

         เคยสงสัยไหมว่า "สถิติ" คืออะไร  บางคนอาจรู้จักดีแล้ว แต่บางคนอาจไม่รู้จักเลย  แตอาจจะเคยได้ยินมาบ้าง เช่น  สถิติการส่งออกรถยนต์  สถิติปริมาณน้ำฝนในแต่ละปี  ซึ่งสิ่งเหล่านีถือเป็นสถิติเช่นกัน   ถ้าเป็นอย่างนั้นสถิติมีความหมายแค่นี้หรือเพื่อให้หายข้อสงสัยเรามาทำความรู้จักกับสถิติกันเลย
         โดยทั่วไปสถิติมี 2 ความหมาย  คือ
    1. ตัวเลขหรือข้อเท็จจริงของเรื่องราวต่างๆ ที่เราสนใจ 

           ตัวเลขเหล่านี้เกิดจากการเก็บรวบรวมข้อมูลจำนวนมากๆ แล้วนำมาจำนวนหนึ่งด้วยวิธีการต่างๆ เช่น สำรวจ สอบถาม หรืออาจเป็นค่าของสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ได้มีการบันทึกไว้อยู่แล้ว ตัวอย่างสถิติในความหมายนี้ เช่น สถิติการส่งออกรถยนต์ในแต่ละปี ซึ่งตัวอย่างนี้จะเหมือนตัวอย่างที่กล่าวไว้ในด้านบน  สถิติในความหมายนี้จึงเป็นสิ่งที่เรามักได้ยินบ่อยๆ

         2. วิชาที่ว่าด้วยกลวิธีที่ใช้หาข้อสรูปของข้อมูล 

     

           วิชาที่ว่านี้จะกล่าวถึงวิธีการที่ถูกนำมาใช้เพื่อหาข้อสรุปของข้อมูลปริมาณมากๆ โดยอาศัยการเก็บตัวอย่างข้อมูล  แล้วนำข้อมูลตัวอย่างนั้นมาหาผลสรุปเพื่อใช้ในการอธิบายข้อมูลปริมาณมากๆ นั้นอีกทีหนึ่ง  โดยกลวิธีเหล่านี้จะว่าด้วยเรื่อง

      • การเก็บรวบรวมข้อมูล 
      • การนำเสนอ 
      • วิเคราะห์ข้อมูล 
      • การตีความหมายและหาข้อสรุป
          จะเห็นว่าในความหมายนี้คนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยรู้จักเพราะเป็นเรื่องของวิชาการ  และถูกบรรจุเป็นหลักสูตรในการเรียน  แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเรียนรู้

         ดังนั้นจึงสรุปสั้นๆ ได้ว่า 

          "สถิติ (Statistics)"   เป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่ถูกนำมาใช้เพื่อเปลี่ยนข้อมูลให้เป็นข้อสรุปหรือผลสรุปที่มีความน่าเชื่อถือ  เช่น ตัวเลข  ตาราง แผนภูมิ  หรือข้อความ  แล้วจึงนำผลสรุปเหล่านี้ไปใช้ในการตัดสินใจตามวัตถุประสงค์ของเรา  โดยข้อมูลที่ถูกนำมาใช้อาจเป็นข้อมูลที่มีอยู่แล้วหรือเก็บรวบรวมมาใหม่ก็ได้